การพิจารณาว่าหน่วยงานใดเป็นหน่วยงานของรัฐหรือไม่นั้น คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการได้เคยพิจารณาวางหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการเป็นหน่วยงานของรัฐ และคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2550 ได้มีมติเห็นชอบ และยังถือปฏิบัติจนถึงปัจจุบัน
1. ความสัมพันธ์กับรัฐ
1.1 การจัดตั้ง พิจารณาถึง ที่มาของการจัดตั้ง เช่น กฎหมายที่ใช้ในการจัดตั้ง หากจัดตั้งโดยกฎหมายมหาชน เช่น พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา พระราชกำหนด ถือว่ามีความสัมพันธ์กับรัฐสูง แต่หากจัดตั้งโดยการจดทะเบียนบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน ถือว่ามีความสัมพันธ์กับรัฐน้อย
1.2 รูปแบบ พิจารณาถึง ประเภทของหน่วยงานที่ระบุไว้ในกฎหมายจัดตั้ง เช่น กำหนดว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ กำหนดว่าเป็นนิติบุคคล ที่มิใช่ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจในกำกับของกระทรวง จะถือว่ามีความสัมพันธ์กับรัฐ แต่หากกำหนดว่าเป็นนิติบุคคลเท่านั้น จะถือว่าไม่มีความสัมพันธ์กับรัฐ
1.3 การแต่งตั้งบุคลากรระดับสูง พิจารณาว่า รัฐมีอำนาจหรือบทบาทในการแต่งตั้งคณะกรรมการ และผู้บริหารสูงสุด ของหน่วยงานนั้น ๆ อย่างไร หรือไม่มีอำนาจเแต่อย่างใด เช่น คณะกรรมการบริหารแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี ผู้บริหารสูงสุดต้องผ่าน การสรรหาตามระเบียบกฎหมายใด
1.4 การกำกับดูแลของรัฐ พิจารณาว่า รัฐมีบทบาทในการกำกับดูแลการดำเนินกิจการของหน่วยงานนั้น หรือไม่อย่างไร เช่น อำนาจในการกำกับดูแลตามกฎหมาย การดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการ กำหนดนโยบาย การอนุมัติโครงการ อำนาจยับยั้งของรัฐมนตรี อำนาจวินิจฉัยชี้ขาดของคณะรัฐมนตรี เป็นต้น
2. กิจกรรม
พิจารณาถึง กิจกรรมของหน่วยงานนั้นเป็นบริการสาธารณะหรือไม่ และเป็นบริการสาธารณะประเภทใด
3. งบประมาณ/รายได้ของหน่วยงานการค้ำประกันหนี้
พิจารณาถึง แหล่งที่มาของงบประมาณและหรือรายได้หลักของหน่วยงานว่ามาจากแหล่งใด เป็นเงินงบประมาณของรัฐ หรือเป็นรายได้ที่หน่วยงานได้รับจากการดำเนินกิจกรรม หรือเป็นการสมทบเงินเข้ากองทุน เป็นต้น รวมทั้งพิจารณาว่ารัฐ ค้ำประกันหนี้ของหน่วยงานนั้นหรือไม่ โดยยึดพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 เป็นหลักในการพิจารณา
4. สถานะของบุคลากร
พิจารณาว่า บุคลากรของหน่วยงานมีสถานะอย่างไร เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายใดหรือไม่ หรือเป็นลูกจ้างพนักงานที่ใช้สัญญาจ้างตามกฎหมายแรงงาน
5. วิธีการและระบบกฎหมายที่ใช้ในการทำกิจกรรม
พิจารณาถึง การดำเนินกิจกรรมหลักของหน่วยงานว่า หน่วยงานต้องใช้อำนาจรัฐบังคับฝ่ายเดียวเป็นหลักในการทำงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งหน่วยงาน หรือใช้รูปแบบของสัญญาระหว่างหน่วยงาน
6. ความเป็นเจ้าของ และอำนาจในการบริหารจัดการ
พิจารณาจาก ที่มาของการจัดตั้ง เงินทุนประเดิม สัดส่วนของรัฐในการถือหุ้น อำนาจตัดสินใจในการบริหารจัดการ และการมีส่วนในการครอบงำกิจการ