โครงการให้คำปรึกษา "การจัดทำแผนแม่บทเมืองอัจริยะ"
(Consultatancy for Master Plan Formulation on Smart City)

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) นโยบายประเทศไทย 4.0 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) มุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่ ภาค และภูมิภาค ภายใต้แนวคิด “การพัฒนาเมืองที่มีความประสงค์ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยการเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการ การบริหารจัดการเมือง การลดค่าใช้จ่าย และการใช้ทรัพยากร โดยเน้นกลไกการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาควิชาการ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ทันสมัย อย่างยั่งยืน ให้ประชาชนในเมืองกินดีอยู่ดี โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นเครื่องมือ” สืบเนื่องจาก ความหนาแน่นของประชากร ความเป็นเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และการเติบโตของเมืองอย่างไร้ทิศทาง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของพื้นที่

รัฐบาลจึงมีนโยบายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 267/2560 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้ปฎิบัติงานขับเคลื่อนแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ต่อมาได้มีประกาศคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ที่ 1/2562 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2562 เรื่อง หลักเกณฑ์การประเมิน และคุณสมบัติ วิธีการ และกระบวนการในการพิจารณาการเป็นเมืองอัจฉริยะ ที่จะนำไปสู่การบริหารจัดการการพัฒนาเมืองให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth) การกระจายความมั่งคั่งไปยังพื้นที่ต่าง ๆ สร้างความเข้มแข็งให้พื้นที่ โดยมุ่งเน้นไปที่การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาพัฒนาตามศักยภาพหรือบริบทของพื้นที่ ให้สภาพแวดล้อมในพื้นที่เมืองมีความน่าอยู่ ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน มีความปลอดภัย มีการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม มีการจัดโครงสร้างพื้นฐานที่สอดคล้องกับศักยภาพทางเศรษฐกิจและโครงสร้างทางสังคมและประชากรในพื้นที่ รวมทั้ง รองรับประชากรสูงอายุที่จะมีจำนวนมากขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดเป้าหมายให้มีเมืองอัจฉริยะเกิดขึ้น

ในประเทศไทยใน พ.ศ. 2562 นำร่อง 7 จังหวัด 10 พื้นที่ พ.ศ. 2563 ขยายไปสู่ 24 จังหวัด 30 พื้นที่ และภายใน พ.ศ. 2565 จะขยายทั่วประเทศ 77 จังหวัด 100 พื้นที่ โดยมีแนวทางบริบทการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ตามนิยามและคุณลักษณะที่มีการกำหนดออกมาทั้ง 7 ประเภท ได้แก่ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ เศรษฐกิจอัจฉริยะ ขนส่งอัจฉริยะ พลังงานอัจฉริยะ พลเมืองอัจฉริยะ การดำรงชีวิตอัจฉริยะ และการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ แต่ละพื้นที่หรือเมืองจะมีการกำหนดตำแหน่งให้พื้นที่ (City Positioning) ของตนเป็นเมืองอัจฉริยะตามรูปแบบ หรือลักษณะพิเศษตามศักยภาพของเมืองนั้นและเน้นการมีเป้าหมายเดียวกันและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน อาทิ ส่วนราชการในพื้นที่ (ส่วนกลาง ภูมิภาค และองค์กรปกครองท้องถิ่น) ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ

แผนพัฒนาจังหวัด มีบทบาทและเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งการพัฒนาบางส่วนของจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากการเติบโตให้เป็นเมืองอัจฉริยะตามกรอบนโยบายรัฐบาลข้างต้น เนื่องจากแผนพัฒนาจังหวัดมีกลไกการจัดทำแผนแม่บทแบบบูรณาการ การมีส่วนของทุกภาคส่วน มีการเชื่อมโยงหน่วยงานทั้งในพื้นที่และส่วนกลาง มีช่องทางการผลักดันความต้องการหรือปัญหาของพื้นที่ให้ได้รับการสนับสนุนจากส่วนกลาง รวมทั้ง มีกลไกขับเคลื่อนแผนแม่บทแปลงสู่แผนปฏิบัติการ รวมทั้งงบประมาณของแผนพัฒนาจังหวัด สามารถเป็นจุดเริ่มต้น หรือนำร่อง หรือทดลองการพัฒนาพื้นที่ ก่อนนำไปสู่การขยายผลหรือการผลักดันให้มีการสนับสนุนจากส่วนกลาง หรือนโยบายระดับชาติด้านต่าง ๆ ได้

มูลนิธิพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ โดยสถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ (สปร.) ได้เล็งเห็นความสำคัญของจังหวัดที่กำลังมีการขยายทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และมีความต้องการการบริหาร จัดการเมืองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีประสิทธิภาพรองรับการเติบโตอย่างชาญฉลาด และได้มีการเตรียมพร้อมการเป็นเมืองอัจฉริยะตามแนวนโยบายของรัฐบาล ผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจึงได้จัดทำ“โครงการให้คำปรึกษาการจัดทำแผนแม่บทเมืองอัจฉริยะ” เพื่อให้จังหวัดที่ประสงค์จะพัฒนาพื้นที่เป้าหมายเป็นเมืองอัจฉริยะ และต้องการรับบริการวิชาการโดยการจ้างที่ปรึกษาเพื่อให้มีการศึกษาวิจัยนโยบาย ทฤษฎี กรณีศึกษาและบริบทการพัฒนาเมือง สร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีแผนแม่บทการพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะแผนปฎิบัติการประจำปี แผนงานโครงการขับเคลื่อน รวมทั้ง มีการเพิ่มพูนสมรรถนะบุคลากรของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ และบริบทที่จะถูกกำหนดให้เป็นเมืองอัจฉริยะของจังหวัด โดยมุ่งหวังเพื่อให้การขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะสามารถเกิดขึ้นมาได้อย่างเป็นรูปธรรม และดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป